วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

โวหารภาพพจน์

     โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ลักษณะของโวหารภาพพจน์ ได้แก่ อุปมา อุปลักษณ์ ปฏิพากย์ อติพจน์ บุคลาธิษฐาน สัญลักษณ์ นามนัย สัทพจน์ ซึ่งโวหารแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน
        อุปมา อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เหมือน” เช่น ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น
ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
(อิเหนา)

        อุปลักษณ์  อุปลักษณ์ คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับอุปมาคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน มีวิธีสังเกต ๒ วิธีได้แก่
๑. มีคำว่า “คือ” “เป็น” และมีนัยเชิงเปรียบเทียบ เช่น เธอคือนางฟ้าในใจ
๒. ละคำว่า “คือ” “เป็น” เช่น ทะเลดาว, เพชรน้ำค้าง
ตัวอย่างเช่น
ถึงห้วยโป่งเห็นธารละหานไหล   คงคาใสปลาว่ายคล้ายคล้ายเห็น
มีกรวดแก้วแพรวพรายรายกระเด็น   บ้างแลเห็นเป็นสีบุษราคัม
(นิราศเมืองแกลง)

        บุคคลวัต หรือ บุคลาธิษฐาน  การสมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์
ตัวอย่างเช่น
ต้นไม้แต่งตัว อยู่ในม่านมัวของหมอกคราม
บ้างลอกเปลือกอยู่ปลามปลาม บ้างแปรกิ่งประกบกัน
บ้างปลิวใบสยายลม บ้างชื่นชมช่อชูชัน
บ้างแตกกิ่งอวดตาวัน บ้างว่อนไหวจะร่ายรำ
(เพลงขลุ่ยผิว, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) 

        อติพจน์  อติพจน์ คือ การเปรียบเทียบโดยการกล่าวข้อความที่เกินจริง มักเปรียบเทียบในเรื่องปริมาณว่ามีมากเหลือเกิน มีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น
เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน
อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ
บเห็นตะวันเดือน ดาวมือ มัวนา
แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน
(ลิลิตพระลอ)

        สัญลักษณ์   สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดนทั่วไป
ตัวอย่างเช่น
นกพิราบ แทน สันติภาพ เมฆหมอก แทน อุปสรรค
สีดำ แทน ความตาย ความชั่วร้าย สีขาว แทน ความบริสุทธิ์
หงส์ แทน คนชั้นสูง กา แทน คนต่ำต้อย
ลา แทน คนโง่ คนน่าสงสาร สุนัขจิ้งจอก แทน คนเจ้าเล่ห์ดอกไม้ แทน ผู้หญิง

        นามนัย   นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีที่บ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทน สิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น
หัวหงอก แทน คนเฒ่าคนแก่ หัวดำ แทน คนหนุ่มคนสาว
เมืองโอ่ง แทน จังหวัดราชบุรี เมืองย่าโม แทน จังหวัดนครราชสีมา
ทีมเสือเหลือง แทน ทีมมาเลเซีย ทีมสิงโตคำราม แทน ทีมอังกฤษ
ฉัตร แทน กษัตริย์ เก้าอี้ แทน ตำแหน่ง

        สัทพจน์   สัทพจน์ คือ การเปรียบเทียบโดยใช้คำเลียนแบบให้เห็นท่าทาง แสง สี ได้ยินเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ หลายอย่างรวมกันก็ได้ มักจะพบในความเป็นธรรมชาติ หรือเครื่องดนตรี หรือเครื่องใช้ตามวิถีชาวบ้าน
ตัวอย่างเช่น
เสียงโหม่ง หม่อง ฆ้องตีเคล้าปี่พาทย์ เสียงเตรง เตร่ง ระนาดชัดจังหวะ
เสียงตะโพน เท่งติง ติง เท่งป๊ะ เสียงกลองแขก โจ๊ะ จ๊ะ โจ๊ะ โจ๊ะ
( มโหรีชีวิต : แก้วตา ชัยกิตติภรณ์ ) 

        ปฏิพากย์   ปฏิพากย์ คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าวอย่างกลมกลืนเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น
เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น เธอตายเพื่อผู้อื่นนับหมื่นแสน
เธอเป็นดินก้อนเดียวในดินแดน แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน
(กระทุ่มแบน, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) 

        ปฏิปุจฉา หรือ คำถามเชิงวาทศิลป์   ปฏิปุจฉา หรือ คำถามเชิงวาทศิลป์ คือ การตั้งคำถามแต่มิได้หวังคำตอบ หรือ ถ้ามีคำตอบก็เป็นคำตอบที่ทั้งผู้ถามเเละผู้ตอบรู้ดีอยู่เเล้ว นักเขียนจะใช้คำถามเชิงวาทศิลป์เพื่อเร้าอารมณ์ผู้อ่าน หรือสื่อความหมายเเละข้อคิดที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น
            เห็นเเก้วแวววับที่จับจิต            
ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี    
อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ
(ท้าวแสนปม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น